นิทรรศการพลังงานนิวเคลียร์เพื่ออนาคต


นิทรรศการพลังงานนิวเคลียร์เพื่ออนาคตเป็นนิทรรศการที่แสดงถึงความรู้เกี่ยวกับรังสี เชื้อเพลิงที่สำคัญของโลกในการผลิตไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้า และแบบจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 โซน ดังนี้

1. รังสีในชีวิตประจำวัน
    รังสี คือ พลังงานที่แผ่ออกมาจากต้นกำเนิดเหมือนกับหลอดไฟเปล่งแสงไฟ โดยรังสีแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
>> คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เช่น คลื่นวิทยุ ไมโครเวฟ แสงสว่าง รังสีเอกซ์ รังสีแกมมา และรังสีคอสมิก เป็นต้น
>> อนุภาค เช่น แอลฟา บีตา แกรมมา และนิวตรอน เป็นต้น   
ต้นกำเนิดรังสีมาจาก 2 แหล่ง ได้แก่
>> แหล่งกำเนิดรังสีตามธรรมชาติ เช่น รังสีคอสมิกจากนอกโลก รังสีจากดิน หิน น้ำ อากาศ อาหาร เป็นต้น ระดับรังสีในธรรมชาติที่มนุษย์ได้รับ (เฉลี่ยทั่วโลก) ประมาณ 2.4 มิลลิซีเวิร์ต/ปี
>> แหล่งกำเนิดรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น เครื่องเอกซเรย์ เตาไมโครเวฟ เป็นต้น
2. รังสีอยู่ที่ไหนบ้าง
     สิ่งของที่อยู่รอบๆตัวเรานั้นจะมีรังสีอยู่ด้วย แต่จะมีมากน้อยแค่ไหน เครื่องเล่นนี้จะแสดงค่าของสิ่งของที่ปล่อยรังสี ซึ่งเป็นสิ่งของที่ใกล้ตัว เช่น
>> กล้วย - รับประทานกล้วย 1 ผล ได้รับปริมาณรังสี 0.0001 มิลลิซีเวิร์ต (mSv)
>> ค่าเฉลี่ยในอาหาร - โดยเฉลี่ยใน 1 ปี มนุษย์เราจะบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่มีกัมมันตภาพรังสีเจือปนรวมแล้วประมาณ 0.3 มิลลิซีเวิร์ต (mSv) (สารกัมมันตรังสีในอาหารส่วนใหญ่มาจากธาตุโพแทสเซียม-40 ซึ่งพบได้ในพืชและสัตว์ทุกชนิด)
>> หินแกรนิต - บ้านที่ปูพื้นด้วยหินแกรนิต จะทำให้ผู้อยู่อาศัยได้รับรังสีประมาณ 1 มิลลิซีเวิร์ตต่อปี
>> ดวงอาทิตย์ - ในอวกาศมีรังสีคอสมิกอยู่ทั่วไป โดยมีต้นกำเนิดส่วนใหญ่มาจากนอกระบบสุริยะ และบางส่วนมาจากดวงอาทิตย์โดยมนุษย์ได้รับรังสีคอสมิก เฉลี่ยปีละประมาณ 0.38 มิลลิซีเวิร์ต
3. ความรู้เกี่ยวกับเชื้อเพลิงที่สำคัญของโลก  
>> ถ่านหิน เป็นเชื้อเพลิงที่มีราคาถูก และมีปริมาณเชื้อเพลิงสำรองประมาณ 891 พันล้านตัน สามารถใช้ได้อีก 110 ปี
>> น้ำมัน มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรองประมาณ 1,700 พันล้านบาร์เรล สามารถใช้ได้อีก 52 ปี
>> ก๊าซธรรมชาติ มีราคาผันผวน และมีปริมาณเชื้อเพลิงสำรอง 187.1 ล้านล้านลูกบาศก์เมตร สามารถใช้ได้อีก 54.1 ปี
>> ยูเรเนียม มีปริมาณเชื้อเพลิงสำรองประมาณ 5.9 ล้านตัน สามารถใช้ได้อีก 90 ปี ถ้ามีการสกัดเชื้อเพลิงนำมาใช้ใหม่ สามารถใช้งานได้อีก 300 ปี
>> เชื้อเพลิงในประเทศไทย ปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่พิสูจน์แล้วของประเทศไทย ประกอบด้วยน้ำมันดิบ 257.04 ล้านบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติเหลว 203.91 ล้านบาร์เรล และก๊าซธรรมชาติ 8.41 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งหากไม่มีการสำรองเพื่อพิสูจน์หาปริมาณสำรองเพิ่มเติมได้ ในขณะที่การผลิตอยู่ที่อัตราปัจจุบัน ปริมาณก๊าซธรรมชาติจะสามารถใช้ได้อีกประมาณ 6 ปีเท่านั้น
4. การผลิตไฟฟ้าและการทำงานของโรงไฟฟ้า เป็นแบบจำลองของการผลิตไฟฟ้า
5. กำเนิดไฟฟ้า เป็นการจำลองเครื่องกำเนิดไฟฟ้าอย่างง่าย
6. แบบจำลองโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนชนิดหนึ่งใช้ความร้อนทำให้น้ำเดือดกลายเป็นไอน้ำไปหมุนกังหัน เพื่อหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทำการผลิตไฟฟ้า ความแตกต่างอยู่ที่แหล่งกำเนิดความร้อนซึ่งได้มาจากปฏิกิริยานิวเคลียร์แทนที่จะเป็นการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง น้ำมัน ถ่านหิน หรือก๊าซธรรมชาติ
7. โรงภาพยนตร์ ๓ มิติ ฉายภาพยนตร์ ๓ มิติเรื่อง มารู้จักกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์กันเถอะ! ผนังด้านในของห้องฉายภาพยนตร์ ได้จัดแสดงเนื้อหาของการจัดการเชื้อเพลิงใช้แล้วของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์