Our Services

ไข้เลือดออก: กรมควบคุมโรคเผยผู้ป่วยเพิ่มจากปี 61 เกือบสองเท่า แนะป้องกันยุงกัด-กำจัดยุงลาย

ก.ค. 04 2562

ไข้เลือดออก: กรมควบคุมโรคเผยผู้ป่วยเพิ่มจากปี 61 เกือบสองเท่า แนะป้องกันยุงกัด-กำจัดยุงลาย

01

สถานการณ์การระบาดของไข้เลือดออกในปีนี้น่าเป็นห่วง โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขรายงานว่าในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแล้ว 35,482 คน เสียชีวิต 54 คน ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ถึงเกือบสองเท่า

พญ.ชีวนันท์ เลิศพิริยสุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยว่า มีแนวโน้มว่าจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกปีนี้จะสูงกว่าค่าเฉลี่ยมัธยฐานของจำนวนผู้ป่วยใน 5 ปีที่ผ่านมา

เมื่อเปรียบเทียบกับสถิติของปี 2561 พบว่าระหว่างเดือนมกราคม-มิถุนายน มีผู้ป่วย 22,539 ราย แต่ในปีนี้มีผู้ป่วยมากถึง 35,482 ราย

สถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในปีนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงในประเทศไทยเท่านั้น ประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว กัมพูชา พม่า รวมไปถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน ก็พบการระบาดของโรคไข้เลือดออกเช่นเดียวกัน และจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกในทุกประเทศก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีเช่นเดียวกัน

พญ.ชีวนันท์กล่าวว่า ไข้เลือดออกมีลักษณะการระบาดปีเว้นปี หรือ 1 ปีเว้น 2 ปี ซึ่งปี 2562 ก็เป็นปีที่ทางกรมควบคุมโรคพยากรณ์ว่าจะระบาดหนัก

"จำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2561 แล้ว ทำให้เราคาดได้เลยว่าพอเข้าปี 2562 ต้องเพิ่มขึ้น เราคาดว่าปีนี้จะมีผู้ป่วยกว่า 1 แสนราย แต่จะตั้งเป้าไม่ให้เกินนี้"

ปัจจัยหลักที่จะสามารถหยุดยั้งสถานการณ์ระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ คือ การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายและป้องกันตัวเองไม่ให้ยุงกัด หากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานรัฐและประชาชนร่วมมือกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายก็จะช่วยลดจำนวนผู้ป่วยที่คาดว่าจะเยอะในปีที่ระบาดได้ พญ.ชีวนันท์กล่าว

02

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีอัตราป่วยไข้เลือดออกสูงสุด คือ 66.62 ต่อประชากรแสนคน ส่วนหนึ่งเพราะเป็นภาคที่มีประชากรอยู่มาก รองลงมา คือ ภาคใต้ ภาคกลางและภาคเหนือ

จังหวัดที่มีอัตราป่วยสะสมสูงสุด 10 อันดับแรกในรอบ 1 เดือนที่ผ่านมาได้แก่ อุบลราชธานี ตราด บึงกาฬ นครราชสีมา มุกดาหาร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ จันทบุรี เลย และเพชรบูรณ์

อาการไข้เลือกออกต่างจากไข้หวัดใหญ่

ด้วยอาการของโรคที่มีความคล้ายคลึงกันระหว่างโรคไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ ประชาชนบางส่วนจึงแยกไม่ออกเมื่อป่วยเป็นไข้เลือดออก พญ.ชีวนันท์ อธิบาย

"สองโรคนี้มีอาการคล้ายกันตรงที่มีไข้สูง แต่ถ้าเป็นไข้หวัดใหญ่เราจะสังเกตได้ว่านอกจากมีไข้แล้วจะมีน้ำมูกและไอร่วมด้วย เมื่อนอนพักผ่อนไข้ก็อาจจะลดลง แต่ถ้าเป็นไข้เลือดออก จะไม่ค่อยมีน้ำมูกไหลหรือไอ แต่จะมีอาการปวดท้องอาเจียน ถ่ายเหลวหรือท้องเสีย"

แต่ในผู้ป่วยบางรายก็เป็นทั้งไข้เลือดออกและไข้หวัดใหญ่ในเวลาเดียวกัน เพราะฉะนั้นหากมีอาการไข้สูงลอยนานกว่า 2 วัน แนะนำให้ควรไปโรงพยาบาล เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการโดยละเอียดดีที่สุด พญ.ชีวนันท์กล่าว

ไข้เลือดออกลายพันธุ์ได้หรือไม่

ด้วยสถานการณ์ไข้เลือดออกที่รุนแรงขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ประกอบกับมีกรณีผู้ป่วยไข้เลือดออกที่เป็นข่าวใหญ่อย่าง "ปอ-ทฤษฎี สหวงษ์" พระเอกชื่อดังที่เสียชีวิตจากการป่วยเป็นไข้เลือดออกเมื่อปี 2559 จึงมีบางคนสงสัยว่าความรุนแรงของโรคเกิดจากเชื้อไวรัสที่กลายพันธุ์หรือไม่

"ไข้เลือดออกไม่ได้กลายพันธุ์" คือคำยืนยันของ พญ.ชีวนันท์ พร้อมทั้งขยายความว่า "ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสไข้เลือดออกซึ่งมีอยู่ 4 สายพันธุ์ โดยทางการแพทย์เรียกว่าสายพันธุ์ที่ 1 2 3 และ 4 ซึ่งทำให้เกิดอาการรุนแรงต่างกัน โดยผู้ป่วยที่มีอาการหนักส่วนใหญ่จะติดเชื้อไข้เลือดออกชนิดรุนแรงสายพันธุ์ที่ 1 และ 2 ส่วนสายพันธุ์ที่ 3 และ 4 จะมีความรุนแรงน้อย"

 03

วิธีป้องกัน

ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลงแนะนำว่า วิธีการป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือการป้องกันตัวเอง คือ ไม่ให้ยุงกัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มียุงชุกชุม หรือใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันยุง

การกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงก็เป็นอีกวิธีการหนึ่งที่สำคัญ เริ่มจากการกำจัดภาชนะที่มีน้ำขัง เช่น กล่องโฟม ภาชนะที่ไม่ใช้แล้ว จานรองกระถางต้นไม้ ยางรถยนต์ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ที่พบมากในต่างจังหวัด แจกันบนศาลพระภูมิ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนมักมองข้าม

พญ.ชีวนันท์อธิบายว่า การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายควรทำทุก 1 สัปดาห์ เพราะวงจรชีวิตของยุงจะใช้เวลา 7 วัน พัฒนาจากลูกน้ำเป็นตัวเต็มวัย ดังนั้นหากไม่กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ทุกสัปดาห์ ก็จะมียุงตัวเต็มวัยเพิ่มขึ้นอีกจำนวนมาก

"เราต้องดูว่าในปีนี้เราช่วยกันควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าทำได้ดี ในปีหน้าก็มีโอกาสที่ผู้ป่วยจะลดลง แต่ถ้ายังคุมไม่ได้ โอกาสที่ปีหน้าจะระบาดก็ยังมีอยู่"

ชิคุนกุนยา อีกหนึ่งโรคหน้าฝนที่ต้องเฝ้าระวัง

โรคไข้เลือดออกไม่ใช่โรคเดียวที่มียุงลายเป็นพาหะ อีกโรคหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังในช่วงหน้าฝน คือ โรคชิคุนกุนยา ซึ่งหากมาตรการกำจัดยุงลายและป้องกันยุงกันได้ผลดี ก็สามารถป้องกันทั้งโรคไข้เลือดออก โรคชิคุนกุนยา รวมถึงไวรัสซิก้าได้ในเวลาเดียวกัน

"ชิคุนกุนยาอาจจะไม่รุนแรงถึงชีวิตแต่ว่า ผู้ป่วยบางคนอาจจะปวดข้ออยู่นานหลายเดือนหรือเป็นปี โรคชิคุนกุนยาระบาดมากทางภาคใต้ และยังพบได้ในภาคเหนือและภาคอีสานด้วย ซึ่งช่วงนี้พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในบางจังหวัด เช่น จ.ราชบุรี" พญ.ชีวนันท์ให้ข้อมูล

กรมควบคุมโรค อธิบายอาการผู้ป่วยชิคุนกุนยาไว้ว่า มีไข้สูงเฉียบพลัน มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย อาจมีอาการคันร่วมด้วย บางรายอาจมีตาแดง สิ่งที่ต่างจากโรคไข้เลือดออก คือไวรัสชิคุนกุนยาจะไม่ทำให้พลาสมาหรือน้ำเลือดรั่วออกนอกเส้นเลือด ส่วนใหญ่จึงไม่ทำให้ผู้ป่วยช็อก แต่ทำให้ผู้ป่วยทรมานจากอาการปวดตามข้อและข้ออักเสบ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า โดยเปลี่ยนตำแหน่งการปวดไปเรื่อย ๆ การรักษามีเพียงประคับประคองตามคำแนะนำของแพทย์ ได้แก่ การให้ยาลดไข้ แก้ปวด การให้สารน้ำให้เพียงพอ และดูแลให้ผู้ป่วยพักผ่อนให้เพียงพอ

Read 8452 times Last modified on วันพฤหัสบดี, 04 กรกฎาคม 2562 08:13
Rate this item
(0 votes)

About The Author