นิทรรศการเทคโนโลยีชีวภาพ


นิทรรศการเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นนิทรรศการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพ ที่เน้นการนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน นำเสนอโดยการจำลองสภาพหรือสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน ด้วยโมเดลขนาดใหญ่ ตัวอย่างผลผลิต เสริมด้วยกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์ตรงจากการสัมผัสและทดลองด้วยตนเอง ช่วยให้เกิดความเข้าใจและสนุกสนานในการเรียนรู้ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 5 โซน ดังนี้

1. จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีชีวภาพ
    เทคโนโลยีชีวภาพ คือ การนำความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตหรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิต ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร สิ่งแวดล้อม และอุตสาหกรรม
เช่น คนไทยรู้จักการทำปลาร้า ปลาเจ่า แหนม ผักกาดดอง หรือการนำข้าวมาหมักเป็นข้าวหมาก และสุราพื้นบ้าน ซึ่งเริ่มทำกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
2. เทคโนโลยีชีวภาพในปัจจุบัน
    เทคโนโลยีชีวภาพเป็นการใช้ความรู้ด้านต่างๆ ของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต หรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิตเพื่อประโยชน์ต่อมนุษย์ในทุกด้าน ตั้งแต่การประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิตในระดับเซลล์ และเล็กลงไปถึงระดับสารพันธุกรรม หรือดีเอ็นเอ (DNA) มีชื่อเต็มว่า กรดดีออกซีไรโบนิวคลีอิก (Deoxyribonucleic Acid) อยู่ในส่วนของนิวเคลียสของเซลล์ โดยพันตัวอยู่บนโครโมโซม (Chromosome) เป็นตัวเก็บข้อมูลทางพันธุกรรมของสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งๆ เอาไว้ และสามารถถ่ายทอดลักษณะไปยังสิ่งมีชีวิตรุ่นถัดไป
3. เทคโนโลยีเปลี่ยนชีวิต
    จากสิ่งของหมักดอง จุดเริ่มต้นของเทคโนโลยีชีวภาพในอดีต สู่การพัฒนาขั้นสุด ที่เกี่ยวข้องกับคนเรา และอนาคตของเราทุกคน ตั้งแต่การตรวจสอบเอกลักษณ์บุคคลเพื่อนำไปสู่การระบุตัวตน การดัดแปลงพันธุกรรมพืช เพื่อพัฒนาพันทางการเกษตร การดัดแปลงพันธุกรรมจุลินทรีย์เพื่อผลิตวัคซีน หรือฮอร์โมน สำหรับรักษาความเจ็บป่วยของร่างกาย จนถึงการแก้ไขความผิดปกติของพันธุกรรมของมนุษย์เพื่อรักษาโรคด้วยวิธียีนบำบัด นี่คือ เทคโนโลยีที่กำลังเปลี่ยนเรา...เปลี่ยนชีวิต...และเปลี่ยนโลกของเรา
    พันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) คือ การปรับเปลี่ยน ดัดแปลง หรือตัดต่อสารพันธุกรรม (DNA) หรือยีน (gene) เราเรียกสิ่งมีชีวิตที่ได้จากพันธุวิศวกรรมว่า สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม หรือสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรม (Genetically Modified Organisms : GMOs)
    โคลนนิ่ง (Cloning) คือ การคัดลอก หรือการทำซ้ำให้มีลักษณะเหมือนเดิม หรือกระบวนการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศ เป็นการสร้างสัตว์ตัวใหม่ขึ้นมาโดยใช้นิวเคลียสจากเซลล์เต็มวัยของสัตว์เพศอะไรก็ได้ใส่ลงไปที่เซลล์สืบพันธุ์ของสัตว์เพศเมียหรือเซลล์ไข่ที่นำพันธุกรรม หรือ DNA ออกไปก่อน จากนั้นนำเซลล์สืบพันธุ์นั้นไปใส่ในตัวเมีย เมื่อสัตว์คลอดออกมาจะมีรูปร่างหน้าตา ลักษณะภายนอกและพันธุกรรม เหมือนกับสัตว์ที่เป็นเจ้าของเซลล์เดิมทุกประการ
    ยีนบำบัด (Gene Therapy) คือการรักษาโรคหรือความผิดปกติทางพันธุกรรม โดยการนำสารพันธุกรรมหรือยีนที่ทำงานได้สู่เซลล์ผู้ป่วย เพื่อชดเชยการทำงานของยีนที่ไม่ทำงานหรือยีนที่ผิดปกติ
    ไมโครแอเรย์ของดีเอ็นเอ (DNA Microarray) เป็นเทคนิคที่ใช้ในการตรวจสอบระดับการแสดงของยีนโดยรวมทั้งหมดได้อย่างแม่นยำ (High-Throughput Technique) หลักการคือ การจับกันอย่างจำเพาะเจาะจงของสายดีเอ็นเอสองสายที่เป็นคู่กัน (Complementarystrands of DNA) ดีเอ็นเอหรือยีนที่ทราบบทบาทหน้าที่แล้วจะถูกติดอยู่บนฐานซึ่งเป็นแผ่นกระจกสไลด์ เรียกแผ่นกระจกนี้ว่า แผ่นไมโครแอเรย์ (Microarray Slide) ซึ่งเมื่อนำดีเอ็นเอมาทำปฏิกิริยาเพื่อให้จับคู่กัน ดีเอ็นเอที่มีลำดับนิวคลีโอไทด์เข้าคู่กับดีเอ็ดเอที่ติดอยู่บนแผ่นไมโครแอเรย์จะสามารถจับคู่กันได้จากนั้นนำแผ่นไมโครแอเรย์นี้ไปเข้าเครื่องอ่าน
4. เทคโนโลยีชีวภาพในชีวิตประจำวัน
    อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การลดโคเลสเตอรอลในไข่แดง และการปรับปรุงคุณภาพน้ำมันในพืชคาโนลา เป็นต้น
    ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร เป็นการพัฒนาการเกษตร ด้านพืชและสัตว์ ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ เช่น การปรับปรุงพันธุ์พืช การผลิตพืชพันธุ์ดีให้ได้ปริมาณมากๆ การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ การควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธี
    การวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ และสาธารณสุข เช่น การพัฒนาวัคซีน ยาและชุดทดสอบตรวจวินิจฉัยโรค เป็นความจำเป็นสำหรับประเทศไทยในการพึ่งพาตนเองระยะยาวในการป้องกัน ควบคุม รักษาโรคภัยไข้เจ็บที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของประชาชนไทย
    เทคโนโลยีชีวภาพเพื่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การลดการใช้สารเคมีที่เป็นผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การนำของเสียจากสิ่งมีชีวิตไปทำปุ๋ยหรือการผลิตปุ๋ยชีวภาพจากสารอินทรีย์ และการใช้จุลินทรีย์ในการกำจัดขยะ
5.ชีวจริยธรรม
    ชีวจริยธรรม (Bioethics)     คือการปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตอย่างมีคุณธรรม ไม่ทำร้าย หรือทำอันตรายต่อสัตว์ หรือมนุษย์เพื่อการศึกษาและการวิจัย ซึ่งแต่เดิมมีเฉพาะชีวิตที่เกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ  แต่จากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ทำให้ชีวิตเกิดขึ้นมาได้จากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อย่างไม่เป็นธรรมชาติด้วย