นิทรรศการศูนย์เรียนรู้ข้าวหอมมะลิโลก


ศูนย์เรียนรู้ข้าวหอมมะลิโลก (Hom Mali Rice Learning Center)

ประวัติศาสตร์และความเป็นมาของทุ่งกุลา 

ตำนานแห่งทุ่งกว้างที่มีชื่อว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้” นี้มีเรื่องเล่าว่า พ่อค้าชาว  เผ่ากุลาคนหนึ่งซึ่งมีอาชีพค้าขายสินค้าเครื่องประดับ และของใช้จิปาถะ เดินทางมาขายตามหมู่บ้านในภาคอีสาน ทางไปนั้นมีแต่ทุ่งหญ้าที่แห้งแล้ง พ่อค้าชาวกุลานั้นคิดว่าตนเองเป็นนักต่อสู้ที่มีความเข้มแข็งอดทนเต็มเปี่ยมและเดินได้เร็ว คงจะใช้เวลาเดินทางไม่นาน จึงเตรียมอาหารและน้ำไปเท่าที่เคย เมื่อพ่อค้าเดินทางไปจริงๆกลับพบว่าแสนกันดารเกินบรรยาย เกิดความทุกข์ทรมานจนทนไม่ไหว จนต้องนั่งร้องไห้ ตั้งแต่นั้นมาชาวบ้านก็พากันเรียกท้องทุ่งแห่งนี้ว่า “ทุ่งกุลาร้องไห้”  


1. สภาพภูมิศาสตร์เขตทุ่งกุลา

ทุ่งกุลาร้องไห้ แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดในโลก มีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในภาคอีสานใหญ่กว่ากรุงเทพถึง 2 เท่าตัว ด้วยเนื้อที่ประมาณ สองล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 13 อำเภอ 5 จังหวัด ได้แก่  จังหวัดร้อยเอ็ด มีพื้นที่มากที่สุดอยู่ใน อำเภอปทุมรัตน์ อำเภอเกษตรวิสัย อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอโพนทราย และอำเภอหนองฮี พื้นที่ประมาณ 986,807 ไร่ คิดเป็น 46.8% จังหวัดสุรินทร์ อำเภอชุมพลบุรีและอำเภอท่าตูม พื้นที่ประมาณ 575,933 ไร่ คิดเป็น 27.3% จังหวัดศรีสะเกษ อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล และอำเภอยางชุมน้อย พื้นที่ประมาณ 287,000ไร่ คิดเป็น 13.6% จังหวัดมหาสารคาม อำเภอพยัคฆภูมิพิสัย พื้นที่ประมาณ 193,890 ไร่ คิดเป็น 9.2% และจังหวัดยโสธร อำเภอค้อวัง และอำเภอมหาชนะชัย พื้นที่ประมาณ 64,000 ไร่ คิดเป็น 3.1%

2. ข้าว รากเหง้าแห่งวิถีวัฒนธรรม

   ประเพณีไทยอีสานเอาบุญสิบสองเดือน

  ภาคอีสาน เป็นภาคหนึ่งของประเทศไทยที่มีความมั่งคั่งในด้านประเพณีวัฒนธรรม มีวิถีชีวิตที่ผูกติดกับพิธีกรรม เป็นภาคที่มีความอุดมสมบูรณ์ของภาษา ประเพณีวัฒนธรรม ซึ่งจะมีงานบุญเยอะมากใน 1 ปี มีประเพณีพิธีกรรมทุกเดือน เพราะคนอีสานยึด ฮีต 12 ครอง 14 เป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

 

3. มารู้จัก...ข้าวหอมมะลิ

ข้าวหอมมะลิ ข้าวพันธุ์ไทย ที่เกิดจากรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองในประเทศไทย นำไปทดลองปลูกเพื่อคัดเลือกพันธุ์ และปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ ที่สถานีทดลองข้าวโคกสำโรง จากจำนวน 199 รวง ได้ข้าวรวงที่ 105 ที่มีลักษณะที่โดดเด่น เมล็ดสวยงาม เรียวยาว มีความมันเลื่อม เมื่อหุงสุกจะมีความนุ่ม เหนียว และหอมกรุ่นชวนรับประทานจากนั้นกรมการข้าวนำไปขยายผลในพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ และพบว่าแหล่งที่ปลูกต้นข้าวหอมมะลิที่ดีที่สุดอยู่“ทุ่งกุลาร้องไห้” เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและดินฟ้าอากาศอยู่ในเงื่อนไขที่เหมาะสม

ปัจจัยที่ทำให้ข้าวขาวดอกมะลิ 105 มีกลิ่นหอม  เกิดมาจากสาร 2AP (2-acetyl-1-pyrroline) ที่มีกลิ่นเหมือนใบเตย ต่อมาภายหลังนักวิทยาศาสตร์ไทย ก็สามารถถอดรหัสค้นพบยีนความหอมของข้าวหอมมะลิ อยู่ที่โคมโมโซมคู่ที่ 8 นอกจากนี้ข้าวหอมมะลิยังถูกนำไปวิจัยพัฒนา และปรับปรุงพันธุ์ โดยการใช้รังสีชักนำให้เกิดการกลายพันธุ์โดยใช้รังสีแกมมาปริมาณ 15 กิโลแรด อาบเมล็ดพันธุ์ข้าว แล้วนำมาปลูกคัดเลือก จนได้สายพันธุ์ใหม่ ข้าว กข ๑๕ ที่ต้องการน้ำน้อยและให้ผลผลิตได้เร็วขึ้น

เรามารู้จักข้าวหอมมะลิกัน

หลายคนคงเข้าใจผิด คิดว่าข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมเหมือนดอกมะลิ แต่ จริงๆแล้ว ข้าวหอมมะลิมีกลิ่นหอมเหมือนใบเตยต่างหาก... ซึ่งชื่อของข้าวหอม มะลินั้น มีที่มาจาก เมล็ดที่มีสีขาวเหมือนกลีบดอกมะลิ เมื่อหุงสุกจะนุ่มเหนียว และมีกลิ่นหอมชวนรับประทาน ลักษณะเช่นนี้จึงเป็นลักษณะเด่นของข้าวหอม มะลิ หรือนิยามง่ายๆ คือ“หอม” “ยาว" “ขาว” “นุ่ม”ข้าวหอมมะลิไทยมีอยู่ 2  พันธุ์คือ ขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 เป็นข้าวที่ไวต่อแสง ที่ต้องใช้แสงกระตุ้นการออกดอก แต่ละปีปลูกได้เพียงหนึ่งครั้งเท่านั้น

 4.ข้าวกับพระมหากษัตริย์


พระบิดาข้าวไทย   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็น “ พระบิดาแห่งการปฏิรูปข้าวไทย ”พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็น “พระบิดาแห่งการวิจัยและพัฒนาข้าวไทย”